คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม

คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประวัติผู้แต่งสี่แผ่นดิน





ศาสตราจารย์ (พิเศษ) พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (20 เมษายน พ.ศ. 2454 - 9 ตุลาคม พ.ศ. 2538) นักปราชญ์ นักเขียน นักการเมือง และศิลปินแห่งชาติ นับเป็นปูชนียบุคคลท่านหนึ่งของไทย เป็นน้องชายแท้ ๆ ของ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี 4 สมัย สื่อมวลชนจึงนิยมเรียกทั้งคู่ว่า "หม่อมพี่ หม่อมน้อง" นอกจากนี้ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ และ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ยังมีพี่สาวคือ หม่อมราชวงศ์บุญรับ พินิจชนคดี (สมรสกับ พลตำรวจเอกพระพินิจชนคดี หรือ พินิจ อินทรทูต)
เมื่อปลายปี พ.ศ. 2551 กระทรวงวัฒนธรรมของไทย ได้เสนอชื่อหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เป็นบุคคลสำคัญของโลกต่อองค์การยูเนสโก โดยมีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้าน ซึ่งต่อมาในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ทางองค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เป็นบุคคลสำคัญของโลก ใน 4 สาขา ได้แก่ การศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล พ.ศ. 2554 โดยได้รับการประกาศพร้อมกันกับครูเอื้อ สุนทรสนาน ซึ่งได้รับในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาลพ.ศ. 2553

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เกิดวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2454 ในเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ตำบลบ้านม้า อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นโอรสคนสุดท้อง ในบรรดาโอรส-ธิดา ทั้ง 6 คน ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ กับหม่อมแดง (บุนนาค) (หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นคนที่ 4) โดยชื่อ "คึกฤทธิ์" นั้น มาจากการที่ ชอบร้องไห้เสียงดังในวัยทารก จึงได้รับพระราชทานนามนี้จาก สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ
ชีวิตส่วนตัวสมรสกับ หม่อมราชวงศ์หญิงพักตร์พริ้ง ทองใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2479 มีบุตรธิดา 2 คน คือ หม่อมหลวงรองฤทธิ์ ปราโมช และ หม่อมหลวงหญิง วิสุมิตรา ปราโมช ต่อมาได้แยกกันอยู่กับหม่อมราชวงศ์พักตร์พริ้ง
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช พักอยู่ที่บ้านในซอยพระพินิจ ซึ่งเป็นซอยย่อยอยู่ในซอยสวนพลู ถนนสาทรใต้ เขตสาทร บ้านหลังนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า "บ้านซอยสวนพลู"
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ นับเป็นบุคคลที่มีบุคลิกและบทบาทที่หลากหลาย มีชื่อเสียงในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการประพันธ์ การแสดง และยังเป็นนักการเมือง ท่านเป็นผู้ก่อตั้งพรรคก้าวหน้า เมื่อ พ.ศ. 2488 ต่อมาได้ยุบรวมกับพรรคประชาธิปัตย์ในปีถัดมา ต่อมาก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เมื่อ พ.ศ. 2493 และก่อตั้งพรรคกิจสังคม เมื่อ พ.ศ. 2517 และได้ดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี คนที่ 13 ของประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2518 โดยสามารถเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลทั้งที่มีจำนวน ส.ส.ในมือเพียง 18 คน รัฐบาลคึกฤทธิ์ในครั้งนั้นมี นายบุญชู โรจนเสถียร ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคกิจสังคม เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบาย "เงินผัน" เป็นที่รู้จักเลื่องลือทั่วไปในสมัยนั้น
ก่อนดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยรับบทเป็น นายกรัฐมนตรี ของประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศหนึ่ง ชื่อว่าประเทศ สารขัณฑ์ ในภาพยนตร์เรื่อง The Ugly American (1963) คู่กับมาร์ลอน แบรนโด เมื่อ ปี พ.ศ. 2506 และหลังพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เคยรับบทเป็นนักแสดงรับเชิญในภาพยนตร์ ผู้แทนนอกสภา กำกับโดย สุรสีห์ ผาธรรม นำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี เมื่อปี พ.ศ. 2526
ระหว่างการเล่นการเมือง หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ มีบุคลิกที่โดดเด่นเป็นตัวของตัวเองที่ทุกคนรู้จักดี คือ วาทะศิลป์ และบทบาทเป็นที่ชวนให้จดจำ เช่น การผวนพูดเล่นชื่อของตัวเองเมื่อมีผู้ถามว่า หมายถึงอะไร โดยตอบว่า "คึกฤทธิ์ ก็คือ คิดลึก" เป็นต้น
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ได้รับฉายาจากนักการเมือง และสื่อมวลชนมากมาย เช่น "เฒ่าสารพัดพิษ" "ซือแป๋ซอยสวนพลู" ภายหลังเมื่อมีอาวุโสสูงวัย จนสามารถแสดงความเห็นทางการเมือง ได้อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพลใดๆ จึงได้รับฉายาว่า "เสาหลักประชาธิปไตย" นอกจากนี้อีกฉายาหนึ่งที่ใช้เรียก หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ในบางแห่งคือ "หม่อมป้า"
ในด้านวรรณศิลป์ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ มีผลงานหนังสือที่มีชื่อเสียงระดับประเทศมากมาย ที่ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น สี่แผ่นดิน, ไผ่แดง, กาเหว่าที่บางเพลง, หลายชีวิต, ซูสีไทเฮา, สามก๊กฉบับนายทุน และเรื่องสั้น "มอม" ซึ่งได้ใช้เป็นบทความประกอบแบบเรียนภาษาไทยในปัจจุบัน บางชิ้นมีผู้นำไปทำเป็นละครโทรทัศน์ เช่น สี่แผ่นดิน, หลายชีวิต และทำเป็นภาพยนตร์ เช่น กาเหว่าที่บางเพลง
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2538 สิริรวมอายุ 84 ปี 5 เดือน 20 วัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 กระทรวงวัฒนธรรมได้เสนอชื่อให้ท่านเป็น บุคคลสำคัญของโลก กับทาง ยูเนสโก

(ที่มา :: http://th.wikipedia.org/wiki)

วรรณกรรมชิ้นเอกแห่งยุครัตนโกสินทร์ : สี่แผ่นดิน





สี่แผ่นดิน (Four Reigns) เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ไทย ในช่วงสมัย รัชกาลที่ 5 ถึง รัชกาลที่ 8 แต่งโดยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของไทย นับเป็นนวนิยายที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเล่มหนึ่งของไทย ได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณกรรมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นเรื่องราวของพลอย (ในละครเรียกว่า แม่พลอย) ซึ่งมีชีวิตในช่วงรัชกาลที่ 5 - รัชกาลที่ 8 โดยผู้ประพันธ์ได้เขียนเรื่องราวทีละตอนลงหนังสือพิมพ์สยามรัฐ โดยมิได้อาศัยโครงเรื่องแต่อย่างใด เพียงทบทวนความเดิมจากตอนที่แล้วก็เขียนต่อไปได้ทันที ผู้ประพันธ์เคยให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่าเมื่อได้ให้ชีวิตกับตัวละครในเรื่องที่เขียนแล้ว ตัวละครแต่ละตัวก็เหมือนมีชีวิตเป็นของตัวเอง ผู้ประพันธ์เป็นเพียงคนถ่ายทอดเรื่องราวของชีวิตตัวละครเหล่านั้นออกมา
บทประพันธ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ด้งกล่าวได้รับการตอบรับจากสังคมอย่างกว่างขวาง คราวหนึ่งถึงตอนที่แม่พลอยตั้งครรภ์แพ้ทองก็มีคนส่งมะม่วงมาให้ถึงโรงพิมพ์ นักวิจารณ์หลายท่านเช่น ทมยันตี ชมเชยแกมเหน็บแนมว่า ผู้ประพันธ์เข้าใจหัวใจสตรีเพศที่เป็นตัวเอกของเรื่องได้เป็นอย่างดี ขนาดที่นักเขียนที่เป็นผู้หญิงเองหลายคนไม่อาจเทียบได้

(ที่มา :: http://th.wikipedia.org/wiki/)

วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554